Translate

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556


เทคนิคในการแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย

1. ในภาษาอังกฤษมีรูปประโยคที่เริ่มต้นด้วย It is เมื่อแปลแล้วคือ มันเป็น การใช้ มันเป็น ทำให้ภาษาไทยขาดความสละสลวย จึงไม่ควรใช้ ตัวอย่างเช่น

It is said that the transit of Venus can damage your eyes.

แปลถูก กล่าวกันว่าการเคลื่อนย้ายของดาวศุกร์ผ่านดวงอาทิตย์สามารถทำอันตรายสายตาคุณ
แปลผิด มันถูกกล่าวว่าการเคลื่อนย้ายของดาวศุกร์สามารถทำอันตรายตาของคุณ


2.ในภาษาอังกฤษจะใส่จำนวนอยู่หน้าคำนามโดยไม่มีลักษณะนาม  เช่น

Ten female singers are singing on the stage.

แปลถูก นักร้องหญิงสิบคนกำลังร้องเพลงอยู่บนเวที
แปลผิด สิบผู้หญิงนักร้องเป็นกำลังร้องเพลงบนเวที

3. รูปประโยคที่เป็น passive voice เป็นการเน้นผู้ถุกกระทำ การใช้ “ ถูก + กริยา” ในภาษาไทยนิยมใช้ในเรื่องไม่ดีหรือไม่เป็นที่พอใจ เช่น

My brother was hit badly yesterday.

แปลถูก น้องชายของแนถูกตีอย่างแรงเมื่อวานนี้
แปลผิด ของฉันน้องชายถูกตีอย่างเลวเมื่อวานนี้

4. ภาษาอังกฤษมีการเรียงลำดับคำขยายคำนาม (Adjective) ไว้ข้างหน้าคำนาม ส่วนภาษาไทยจะแตกต่างคือ มีการเรียงคำขยายคำนาม (Adjective) ไว้ข้างหลังคำนาม เช่น

There are ten black cats in the big cage.

แปลถูก มีแมวดำสิบตัวในกรงใหญ่
แปลผิด ที่นั่นเป็นสิบดำแมวในกรงใหญ่

5. การแปลคำพูดในภาษาอังกฤษมักนิยมใส่ผู้พูดไว้หลังคำพูด แต่ในภาษาไทยนิยมนำชื่อผู้พูดใส่ไว้ก่อนคำพูด  ตัวอย่าง  เช่น

“As long as I can remember, people have been interested in me,” Renji said. “ People love me and want to be with me because of my father. I have to tell them that I am not a religious leader and that I never will be.”

คำแปล เรนจิพูดว่า ตั้งแต่ดิฉันจำความได้ ผู้คนส่วนมากสนใจดิฉัน พวกเขารักดิฉันและต้องการอยู่ใกล้ชิด ก็คงเป็นเพราะคุณพ่อของดิฉัน ดิฉันต้องบอกพวกเขาว่า ดิฉันไม่ได้เป็นผู้นำทางศาสนาและดิฉันจะไม่มีวันเป็นด้วย

6. ควรระลึกอยู่เสมอว่าในการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นไทย การแปลจะต้องใช้ภาษาเขียนที่ถูกต้องชัดเจนตามหลักภาษาไทย และเป็นภาษาที่ใช้แบบราชการเท่านั้น จะไม่มีการใช้ตัวสะกดตามภาษาพูด ตัวอย่างเช่น

-         คำภาษาอังกฤษ “ side effect” ควรแปลเป็น ผลข้างคียง” แต่กลับเป็น “ ผลค้างเขียง”  เพราะผู้แปลใช้วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง ทำให้ความหมายผิดไปมาก เช่น

The medicine has some side effects that can make you nauseous.

แปลถูก ยานี้มีผลข้างคียงบางอย่างซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกคลื่นไส้
แปลผิด ยานี้มีผลค้างเขียงอันไหนสามารถทำให้คุณคลื่นไส้

 

ที่มา เตือนจิตต์ จิตต์อารี.แปลให้เป็นแล้วเก่ง.กรุงเทพมหานคร;อมรินทร์พริ้นติ้ง.2548.

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

ปัญหาที่พบจากการแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย

ปัญหาทางด้านไวยากรณ์และโครงสร้าง เช่น การแปลประโยคที่มีกริยาเป็นกรรมวาจก(Passive voice) การแปลกาล (Tense) การแปลคำเชื่อมโยง (Connectives) การแปลสรรพนามที่ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง (Indefinite pronouns) การแปลประธานที่ไร้ความหมาย (Dummy subject)
ตัวอย่าง
ประโยคที่มีกริยาเป็นกรรมวาจก
1. He was invited to give a speech at the Opening ceremony.
มีผู้แปลว่า: เขาถูกเชิญให้ไปพูดในพิธีเปิด 
ข้อสังเกต: ในภาษาไทยเมื่อใช้คำว่า “ถูก” นำหน้ากริยา ความหมายจะส่อไปในทางไม่ดี
ผู้แปลควรระมัดระวัง
ควรแปลว่า: เขาได้รับเชิญให้ไปพูดในพิธีเปิด

2. Many of Sidney Sheldon’s works have been translated into many languages.
มีผู้แปลว่า: ผลงานของ ซิดนีย์ เชลดอน หลายเล่มถูกแปลเป็นหลายภาษา
ข้อสังเกต : ความหมายของประโยคนี้เป็นกลาง ๆ ไม่ควรใช้คำว่า “ถูก” นำหน้ากริยา
ควรแปลว่า: มีการแปลงานของ ซิดนีย์ เชลดอน ออกมาหลายภาษา

การแปลกริยาที่อยู่ในกาลต่าง ๆ 
1. By the time her son returned home, she had already gone to bed.
มีผู้แปลว่า: ในที่สุดลูกชายของเธอก็กลับบ้าน เธอก็พร้อมจะเข้านอน 
ข้อสังเกต: คำกริยาในภาษาอังกฤษเปลี่ยนรูปไปตามกาล แต่ในภาษาไทยคำกริยาไม่เปลี่ยนรูป
ไปตามกาล ผู้แปลต้องหาคำมาประกอบคำกริยาในการแปลให้ได้ความหมายตรง
ตามกาลในภาษาต้นฉบับ
ควรแปลว่า: กว่าลูกชายของเธอจะกลับถึงบ้าน เธอก็เข้านอนแล้ว

2. She always has a headache when she reads for a long time.
มีผู้แปลว่า: เธอปวดศีรษะขณะเมื่อเธอกำลังอ่านหนังสืออยู่เป็นเวลานาน
ข้อสังเกต: คำกริยาในประโยคนี้ใช้รูปปัจจุบัน เพื่อแสดงว่าเหตุการณ์ในประโยคเกิดขึ้นเสมอ
โดยมีกริยาวิเศษณ์ always เป็นตัวบอกความหมายให้ชัดเจนขึ้น
ควรแปลว่า: เธอมักจะปวดศีรษะเสมอเมื่อเธออ่านหนังสือเป็นเวลานาน ๆ 

คำเขื่อมโยงความคิดระหว่างประโยค
1. She saw an accident while she was crossing the street. 
มีผู้แปลว่า : เธอเห็นอุบัติเหตุเมื่อเธอกำลังข้ามถนน 
ข้อสังเกต: while เป็นคำที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ โดยเหตุการณ์หนึ่งกำลัง
ดำเนินอยู่ และมีอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดซ้อนขึ้นมา 
ควรแปลว่า: เธอแลเห็นอุบัติเหตุในขณะที่เธอกำลังข้ามถนน

2. They did not love each other, so they separated.
มีผู้แปลว่า: เขาไม่รักกัน เขาจึงแยกกัน
ข้อสังเกต: so เป็นคำเชื่อมโยงเหตุและผล
ควรแปลว่า: เขาไม่รักกันแล้ว ดังนั้น เขาจึงแยกทางกัน

คำสรรพนามที่ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง
1. You are the one I love.
มีผู้แปลว่า: เธอเป็นคนหนึ่งที่ฉันรัก 
ข้อสังเกต: one เป็นสรรพนามที่ไม่เจาะจง ผู้แปลต้องอาศัยปริบทจึงจะแปลได้ถูกต้อง
ควรแปลว่า: เธอคือคนที่ฉันรัก

2. The Johnsons have two daughters, one a baby, the other a girl of twelve.
มีผู้แปลว่า: ครอบครัวจอห์นสันมีลูกสาว 2 คน คนหนึ่งเป็นเด็กเล็ก ๆ
คนอื่นเป็นเด็กผู้หญิงอายุสิบสอง 
ข้อสังเกต: the other เป็นคำสรรพนามไม่เจาะจงจึงควรแปลคล้อยตาม
สรรพนานในปริบทนี้ 
ควรแปลว่า: ครอบครัวจอห์นสันมีลูกสาว 2 คน คนหนึ่งยังเล็กอยู่ อีกคนหนึ่ง
เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี

ประธานที่ไร้ความหมาย
1. It was cold this year. 
มีผู้แปลว่า: มันหนาวปีนี้ 
ข้อสังเกต: ประโยคภาษาอังกฤษจำเป็นต้องมีประธาน it ทำหน้าที่เป็นประธานแต่
ไม่มีความหมายเพราะไม่ได้แทนคำนามตัวใด
ควรแปลว่า: ปีนี้อากาศหนาว

2. Oh! It’s beautiful.
มีผู้แปลว่า: โอ! มันช่างสวย 
ข้อสังเกต: เช่นเดียวกันกับตัวอย่างที่ 1 it ไม่มีความหมาย
ควรแปลว่า: แหม สวยจังเลย



 ปัญหาทางด้านศัพท์และสำนวน ปัญหาทางด้านศัพท์และสำนวนเป็นปัญหาที่นักแปลมักจะพบอยู่เสมอ ส่วนผู้ที่เรียนแปลและแปลไม่ได้ก็มักจะคิดว่าการที่ตนเองแปลไม่ได้เพราะไม่รู้คำศัพท์ แต่ถึงจะรู้ความหมายของคำศัพท์จากพจนานุกรมก็อาจจะยังแปลผิดเพราะไม่รู้จักเลือกความหมายที่ถูกต้อง ปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ คำศัพท์ที่มีความหมายหลายนัย คำศัพท์ที่รูปเขียนมักทำให้เข้าใจความหมายผิด คำกริยาคู่ (Phrasal verbs) สุภาษิต คำพังเพย และสำนวนต่าง ๆ 
ตัวอย่าง
คำศัพท์ที่มีความหมายหลายนัย
1. I want to draw some money.
2. Nobody can draw conclusions.

draw ในประโยคที่ 1 แปลว่า ถอนเงิน
และประโยคนี้ควรแปลว่า: ฉันต้องการถอนเงิน 
draw ในประโยคที่ 2 แปลว่า ลงความเห็น
และประโยคนี้ควรแปลว่า: ไม่มีใครลงความเห็น

คำศัพท์ที่รูปเขียนมักทำให้เข้าใจความหมายผิด
1. Many guerrillas were killed in the fight.
มีผู้แปลว่า: ฝูงลิงกอริลลาถูกฆ่าตาย
ข้อสังเกต: ผู้แปลสับสนในเรื่องตัวสะกดของคำสองคำนี้
คือ guerrilla (s) ซึ่งแปลว่า ผู้ก่อการร้าย
และ gorilla (s) ซึ่งแปลว่า ลิงกอริลลา
ควรแปลว่า: ผู้ก่อการร้ายจำนวนมากถูกฆ่าตายในการต่อสู้

2. The traffic problem in Bangkok has been ignored until very lately.
มีผู้แปลว่า: ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ถูกละเลยจนกระทั่งสายมาก
ข้อสังเกต: ผู้แปลเข้าใจว่า lately เป็นกริยาวิเศษณ์ของคุณศัพท์ late 
ซึ่งแปลว่า ช้า สาย จึงแปลผิด
ควรแปลว่า: ปัญหาเรื่องการจราจรในกรุงเทพฯ ถูกละเลยมาตลอดจนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้

คำกริยาคู่
1. The firemen successfully put out the fire.
คำว่า “put out” เป็น phrasal verb ที่เกิดจากกริยา put + out เมื่อมาใช้ คู่กันจะเกิดความหมายใหม่ขึ้นมา แปลว่า ดับไฟ (to extinguish)
ประโยคนี้ควรแปลว่า: พนักงานดับเพลิงดับไฟสำเร็จ

2. We can look up the meaning of words in the dictionary.
คำว่า “look up” เป็น phrasal verb ที่มีความหมายว่า ค้นหา
ประโยคนี้ควรแปลว่า: เราค้นหาความหมายของคำได้จากพจนานุกรม

สุภาษิต คำพังเพย และสำนวนต่าง ๆ
การแปลสำนวนเป็นเรื่องยาก ผู้แปลต้องตีความหมายของสำนวนนั้นให้ได้ แล้วจึงหาคำแปลที่มีความหมายเทียบเคียงกันมาแปล การแปลไปตามรูปคำผู้อ่านจะไม่ เข้าใจเพราะไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และการดำรงชีวิตของเจ้าของภาษา จึงไม่ทราบภูมิหลังของสุภาษิตและคำพังเพยนั้น
1. Carrying coals to Newcastle.
ถ้าแปลคำพังเพยนี้ว่า เอาถ่านหินไปนิวคาสเซิล ผู้อ่านที่เป็นคนไทยจะไม่เข้าใจความหมาย แต่ถ้าแปลเทียบเคียงกับคำพังเพยไทยที่ว่า เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน ผู้อ่านที่เป็นคนไทยจะเข้าใจมากกว่า 

2. Yesterday he worked hard, so he slept like a log.
ถ้าแปลประโยคนี้ว่า เมื่อวานนี้เขาทำงานหนัก เขาจึงนอนหลับเป็นตาย ผู้อ่านคนไทยจะเข้าใจและมองเห็นภาพกว่า เมื่อแปลว่า เขาจึงนอนหลับเหมือนซุง